การจัดการเป็นคำที่มีขอบข่ายกว้างขวาง เกี่ยวเนื่องกับทุกกิจการ เราจะมาพิจารณาความหมายของคำว่าการจัดการ ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Management
[1] กัน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานท่านให้ความหมายของคำ “จัดการ” ว่า “สั่งงาน, ควบคุมงาน, ดำเนินงาน”
[i] เมื่อผนวกเข้ากับคำว่าการซึ่งแปลว่างาน การจัดการจึงหมายถึง งานหรือเรื่องที่ต้องควบคุม แต่หากเราจะพิจารณาจากพจนุกรมฉบับบเดียวกันนี้ในคำว่า “ผู้จัดการ” ซึ่งท่านให้ความหมายว่า “บุคคลที่มีหน้าที่บริหารและควบคุมกิจการ” การจัดการจึงน่าที่จะมีความหมายว่างานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและควบคุมกิจการ
ตามความหมายที่ได้จากพจนานุกรมข้างต้นจะพบว่า ความหมายของคำว่าการจัดการเน้นหนักไปที่การควบคุม ซึ่งการควบคุมนี้จะหมายถึงกระบวนการต่างๆที่จะนำมาซึ่งผลที่พึงได้และพึงประสงค์ตรงตามความต้องการหรือวัตถุประสงค์ของงานและกิจการที่ต้องเข้าไปจัดการ
เราจะพิจารณาความหมายของคำดังกล่าว จากนักคิดนักวิชาการท่านอื่นกันบ้าง ธีรวุฒิ บุณยโสภณ ศาสตราจารย์ประจำคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งและเคยดำรงตำแหน่งสำคัญเช่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ประธานคณะกรรมการบริษัททีโอทีจำกัดมหาชน และ ประธานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา ได้ให้ความหมายของคำว่า Management ซึ่งธีรวุฒิได้ใช้คำแปลว่าการบริหารหรือการจัดการ และให้ความหมายของการบริหารหรือการจัดการ
[ii] ว่า “กระบวนการอย่างหนึ่งภายในองค์การซึ่งมีลำดับการทำงานเป็นขั้นตอน มีกลุ่มบุคคลเป็นกลไกหลักสำคัญในการบริหารงาน มีเงินทุนเครื่องจักรและวัสดุครุภัณฑ์ต่างๆเป็นองค์ประกอบด้วย”
ความหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการซึ่งธีรวุฒิได้กล่าวไว้นั้น ให้ความสำคัญกับกระบวนการที่มีแบบแผนชัดเจน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เป้นแบบแผน ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้
สมพงษ์ เกษมสิน ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ให้ความหมายว่า การจัดการ
[iii] หมายถึง “การจัดหรือดำเนินการตามนโยบายที่กำหนดไว้”
ในส่วนของสมพงษ์ที่ได้กล่าวไว้นั้น ให้ความสนใจกับนโยบายซึ่งจะพบว่าเป็นลักษณะพิเศษ ของการบริหารที่มักจะนำไปใช้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองเสียมากกว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับภาคประชาชน
คราวนี้ถ้าเราจะพิจารณาแนวความคิดหรือความหมายของการจัดการจากนักคิดทางฟากยุโรปและอเมริกากันบ้าง
พจนานุกรม(Dictionary) ของเว็บส์เตอร์ให้ความหมายของคำ การจัดการ (Management) ว่า กฎหรือศิลปในการบริหาร หรืออีกความหมายหนึ่งคือการควบคุม
[iv] พจนานุกรมของคอลลินโคบิลด์ให้ความหมายของคำว่า การจัดการ (Management) ว่า การควบคุมและการจัดองค์กรทางธุรกิจ
[v] พจนานุกรมทั้งสองเล่มยังคงให้ความสำคัญของการจัดการ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเป็นหลัก ซึ่งก็คล้ายคลึงและมีความหมายไปในทำนองเดียวกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ปรมาจาร์ยทางด้านการบริหารจัดการคนหนึ่งของโลก ได้ให้ความหมายของคำว่าการจัดการดังต่อไปนี้
[vi]“Management is about human beings. Its task to make people capable of joint performance, to make their strengths effective and their weaknesses irrelevant.”
แปลได้ว่า การจัดการเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มนุษย์กระทำ เพื่อที่จะทำให้คนสามารถปฏิบัติ ได้อย่างเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และไม่เกิดจุดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับงานที่กระทำ
ดรักเกอร์ ได้ให้ความหมายที่ลงลึกไปในรายละเอียด ถึงกระบวนการที่จะใช้จูงใจหรือบังคับให้เกิดประสิทธิภาพในตัวมนุษย์ เพื่อที่จะบรรลุผลของงานที่ทำตามที่ตั้งเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ไว้
จากความหมายข้างต้นไม่ว่าจากพจนานุกรม เราอาจจะพอที่จะสรุปได้ว่าทุกการจัดการจะมีการควบคุม การควบคุมจึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการจัดการ ผู้จัดการจะหมายถึงผู้ที่ดำเนินการด้วยกลวิธีต่างๆ เพื่อที่จะให้งานนั้นบรรลุผลตามที่ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
[1] ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถานสาขาวิชารัฐศาสตร์ได้ให้ความหมายว่า การจัดการ, การบริหาร, ฝ่ายจัดการ
[i] พจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542
[ii] ธีรวุฒิ บุณยโสภณ และ วรพงษ์ เฉลิมจิระรัตน์., “พื้นฐานบริหารงานอุตสาหกรรม” ศูนย์ผลิตตำราเรียน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พิมพ์ครั้งที่4, 2540, หน้า12.
[iii] สมพงษ์ เกษมสิน., “การบริหาร.” แก้ไขปรับปรุงครั้งที่6. สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช. 2521. หน้า 5.
[iv] Webster
[v] Collin
[vi] P. F. Drucker., “The Essential Drucker” Harperbussiness., 2001, p-10